1. Neuroscience Brain Signals Dopamine Boost Art Concept

    การออกกำลังกายสามารถฟื้นฟูเซลล์ภูมิคุ้มกันในสมองและลดผลกระทบจากการแก่ชรา โดยเน้นถึงความจำเป็นในโปรแกรมการออกกำลังกายที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนสุขภาพทางสมองและปัญญา 

    งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อ15 พฤษภาคม ในวารสารวิทยาศาสตร์ Aging Cell ให้ข้อมูลเชิงลึกว่าการออกกำลังกายอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการเสื่อมถอยของการรับรู้ในช่วงสูงวัยได้อย่างไร

    สำหรับการศึกษานี้ ผู้วิจัยได้ประเมินการแสดงออกของยีนในแต่ละเซลล์ในสมองของหนู ทีมงานพบว่าการออกกำลังกายมีผลอย่างมากต่อการแสดงออกของยีนในไมโครเกลีย (microglia) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันของระบบประสาทส่วนกลางที่สนับสนุนการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมวิจัยพบว่าการออกกำลังกายจะเปลี่ยนรูปแบบการแสดงออกของยีนของ microglia ที่มีอายุมากไปเป็นรูปแบบที่เห็นใน microglia ที่อ่อนเยาว์ลง 

    บทบาทของ Microglia ต่อสุขภาพสมอง

    จากการศึกษาและทดลองเผยให้เห็นว่าเมื่อเซลล์สมองเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นจากการออกกำลังกาย ส่งผลทำให้เกิดการก่อตัวของเซลล์ประสาทใหม่ในฮิบโปแคมปัส (hippocampus) ของสมอง ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การเรียนรู้ และอารมณ์

    นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าเมื่อให้หนูวิ่งออกกำลังกายในวงล้อเป็นประจำ จะสามารถป้องกันและ/หรือลดการมีอยู่ของทีเซลล์ (T cells) ในฮิบโปแคมปัสในช่วงอายุที่มากขึ้น ซึ่งเซลล์ชนิดนี้กันนี้มักไม่พบในสมองในช่วงวัยรุ่นของสัตว์ทดลองหรือมนุษย์ แต่จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ

    ผลจากการออกกำลังกายและการสูงวัย

    “เราทั้งประหลาดใจและตื่นเต้นกับผลของการออกกำลังกายที่สามารถฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเซลล์ภูมิคุ้มกันภายในสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีที่สามารถลดผลกระทบด้านลบของการสูงวัยได้”  Jana Vukovic ผู้วิจัยงานชิ้นนี้ ซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย

    “รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของโปรแกรมการออกกำลังกายที่เป็นมาตรฐานและการปรับโปรแกรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล การค้นพบของเราน่าจะช่วยในอุตสาหกรรมด้านนี้ และการออกแบบมาตรการการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการรักษาหรือปรับปรุงความสามารถทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

    ข้อมูลอ้างอิง: “การออกกำลังกายทำให้ microglia มีชีวิตชีวาและลดการสะสมของ T cell ในสมองของหนูตัวเมียในวัยสูงอายุ” 15 พฤษภาคม 2024, Aging Cell



  2.  กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีตายายสองคนอาศัยอยู่หมู่บ้านชายป่า บ้านของตากับยายห่างไกลจากหมู่บ้านเข้าไปในป่าแถบเชิงเขา ทั้งสองตายายมีอาชีพปลูกผักปลูกข้าวไว้กินเป็นอาหาร 
    ตากับยายเลี้ยงแม่ไก่ไว้หนึ่งตัว วันหนึ่งแม่ไก่ตัวนี้ก็ออกไข่ และฟักเป็นลูกไก่ได้เจ็ดตัว ตากับยายดีใจมากที่มีลูกไก่ตัวเล็ก ๆ วิ่งเล่นกันอยู่ใต้ถุนบ้าน ทั้งยาย และตาจึงชอบนำเอาข้าวเปลือก เมล็ดถั่ว มาหว่านให้ทั้งแม่ไก่ และลูกไก่ทั้งเจ็ดตัวได้กินกันอย่างอิ่มหนำสำราญ  ด้วยความสำนึกในบุญคุณของตายายที่คอยให้อาหาร แม่ไก่จึงคอยเฝ้าสอนลูกให้รักและสำนึกในความเมตตาของตากับยายอยู่เสมอ 

    “ลูก ๆ ทั้งเจ็ดตัวของแม่ ดูสิ ตากับยายเลี้ยงพวกเราเป็นอย่างดี มีข้าวก็ให้กินข้าว มีถั่วก็ให้กินถั่ว ท่านทั้งสองช่างเมตตากับพวกเราเหลือเกิน หากวันใดที่พวกเราจะมีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณของพวกท่าน เราก็อย่างได้รั้งรอนะพวกเจ้า” แม่ไก่ กล่าวสอนลูกน้อยของนาง

    ลูกไก่ก็รับฟังแม่ และเชื่อฟังแม่ ทุกตัวจึงรักและสำนึกในความเมตตาของตากับยายเสมอมา 

    วันหนึ่ง มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเดินธุดงค์ผ่านมาทางชายป่า จนถึงพลบค่ำแล้วท่านจึงปักกลดลงที่โคนต้นไม้ใหญ่ที่เชิงเขานั่น หวังว่าค่ำคืนนี้จะหยุดพักที่นี่สักคืนแล้วจะออกธุดงค์ไปต่อในตอนเช้า 
    ส่วนตาและยายที่เดินออกมาหาของป่า กำลังจะกลับบ้านก็เดินผ่านมาเห็นพระธุดงค์กำลังปักกลดอยู่  ด้วยความที่บ้านของตากับยายนั้นอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน จึงห่างไกลจากวัดด้วย ไม่ค่อยได้พบเจอพระสงฆ์องค์เจ้ามานานแล้ว ตากับยายจึงรู้สึกดีใจเป็นยิ่งนัก 
    ในค่ำคืนนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็พำพักอยู่ที่ชายป่านั้น

    เมื่อกลับถึงบ้าน ทั้งตาและยายนึกอยากจะทำบุญ เหมือนว่าพระมาโปรดสัตว์แล้ว แต่ไม่ได้ทำบุญก็กระไรอยู่ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสงฆ์รูปนั้น จึงปรึกษากันว่า พรุ่งนี้เช้าจะหาอาหารไปตักบาตร ด้วยเป็นห่วงว่า พระรูปนั้นจะได้หิวโหย เนื่องจากธุดงค์มากลางป่ากลางไพร จะหาอาหารที่ไหนประทังชีพได้ 

    “ตาเอ้ย ดูสินั้น พระท่านก็ปักกลดอยู่ชายป่า พรุ่งนี้ท่านก็จะธุดงค์ต่อไปแล้ว แถวนี้ก็ร้างไกลจากหมู่บ้าน พระท่านจะได้ฉันภัตตาหารที่ไหน ฉันคิดแล้วก็ให้สงสารท่านเหลือเกิน กว่าจะเจอหมู่บ้านอีกที ไม่วันนี้ค่ำ ๆ ก็คงจะรุ่งเช้าอีกวัน ฉันว่า เราน่าจะต้องหาอาหารไปตักบาตรกัน ฉันนี้ก็ไม่ได้ตักบาตรมานานแล้ว รู้สึกดีใจเหลือเกินที่ได้พบพระพบเจ้าในวันนี้”

    แต่หันไปทางไหนก็จนแก่ปัญญา ตากับยายนั่นยากจนนัก ต้นผักต้นหญ้าที่ปลูกไว้ก็เหี่ยวเฉาตายไปเพราะความแห้งแล้ง 

    ขณะที่กำลังปรึกษากันอยู่นั้น ที่ในที่สุดตาก็กล่าวขึ้นมาว่า 
    “ยายเอ๋ย เราไม่มีอะไรที่จะทำอาหารดี ๆ ไปถวายพระเลย มีแต่แม่ไก่ที่เราเลี้ยงไว้ตัวหนึ่งเท่านั้นที่พอจะนำมาทำเป็นอาหารไปตักบาตรได้ พรุ่งนี้เช้า ข้าจะไปนำแม่ไก่มาให้ยายแกงนะยาย”

    แม่ไก่ที่อยู่ในเล้าใต้ถุนบ้านก็ได้ยินทั้งหมด และรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากที่ได้ยินเช่นนั้น 

    “นี่ฉันจะต้องตายแล้วเหรอ พรุ่งนี้เช้า” คิดไปพลางน้ำตาของแม่ไก่ก็ไหลรินจากตา 
    “ฉันจะทำยังไงดี คืนนี้จะหนีไปดีไหม แล้วฉันจะพาลูก ๆ ทั้งเจ็ดตัวนี้ไปด้วยกันอย่างไร ไปกลางทางจะเจอสัตว์ร้ายเข้ามาทำร้ายลูกน้อยของฉันหรือเปล่า พวกเราแม่ลูกจะรอดจากปากเหยี่ยวปากกาหรือเปล่านะ” แม่ไก่คิดคร่ำครวญหาวิธีที่จะเอาชีวิตรอด 

    “แต่กระนั้น หากฉันพาลูก ๆ หนีไป ก็คงไม่พ้นจากภัยอันตรายที่จะได้พบเจอกลางทาง สุดท้ายแล้วพวกเราก็ต้องตายเหมือนกัน สู้เรามอบชีวิตของเรานี้ให้กับตายายผู้ที่ได้ชุบเลี้ยงเรามา เคยให้ข้าว ให้ถั่วเรากิน ในการให้ชีวิตของเราแก่ท่านในครั้งนี้ ตากับยายจะได้รับบุญกุศลจากการได้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์รูปนั้น ซึ่งก็เป็นความปรารถนาของตากับกับยายผู้ที่มีอายุที่เรียกได้ว่า เป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว จะมีโอกาสสักอีกกี่ครั้งกันที่ตากับยายจะได้ร่วมกันทำบุญเพื่อสร้างกุศลให้แก่ตัวเองก่อนจะลาจากโลกนี้ไป เพื่อเป็นบุญกุศลในครั้งนี้ ฉันจะขอมอบชีวิตของฉันให้กับตากับยายนะจ๊ะ ” 

    เมื่อคิดได้ดังนั้น แม่ไก่จึงได้หยุดร้องไห้ฟูมฟาย 
    “แต่ฉันจะตายแล้ว ก็ยังเป็นห่วงลูก ๆ ทั้งเจ็ดตัวเหลือเกิน ฉันคงต้องสั่งเสียกับลูก ๆ เสียก่อนเพื่อให้ลูกได้รู้ว่าต่อไปหากไม่มีฉันแล้ว เขาจะต้องดำรงชีวิตไว้ให้ได้” แม่ไก่คิดถึงลูกน้อยทั้งเจ็ดตัวด้วยความเป็นห่วง จากนั้นแม่ไก่จึงเรียกลูกไก่เข้ามากกเอาไว้ พร้อมกับเอ๋ยกับลูก ๆ ว่า

    “มาหาแม่นะจ๊ะลูกจ๋า คืนนี้แม่จะกอดพวกเจ้าไว้จนถึงเช้า มาให้แม่กอดพวกเจ้าเถิดนะ” แม่ไก่กกลูกไก่ไว้ในอก 

    “พรุ่งนี้เช้า แม่จะได้ทำกุศลครั้งใหญ่ พวกเจ้าจะยินดีกับแม่ไหม” แม่ไก่เอ๋ยถามลูก ๆ 

    “ดีใจจ๊ะแม่ แม่จะทำอะไรหรือจ๊ะ” ลูกไก่ตอบพร้อม ๆ กัน จนฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงใคร 

    “พรุ่งนี้เช้า แม่จะต้องจากพวกเจ้าไป เพื่อเป็นอาหารที่ตากับยายจะได้นำไปถวายเป็นภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินธุดงค์มาถึงชายป่าทางด้านโน้น” แม่ไก่ ค่อย ๆ อธิบาย 

    “ตากับยายจะนำร่างของแม่ไป และจะประกอบเป็นอาหารนั้น พวกเจ้าจะไม่ได้เจอแม่อีกแล้วในวันพรุ่งนี้”

    “ลูกเอ๋ย ก่อนแม่จะจากไป แม่ขอสั่งเสียพวกเจ้าไว้ พวกเจ้าจงรักและสามัคคีกัน อย่าทะเลาะเบาะแว้ง อย่าแย่งอาหารกัน ให้จุนเจือต่อกัน ใครมีมากก็แบ่งให้คนมีน้อย ใครมีน้อยก็ให้พยายามหาอาหารเลี้ยงตัวให้ได้มากพอ เอ๋ยขอจากคนที่มีมากกว่าโดยดี เจ้าตัวที่เป็นพี่ก็ให้ดูแลน้องแทนแม่ด้วยนะลูก เจ้าเป็นตัวที่แข็งแรงที่สุด น้องนั้นยังเล็กนัก เจ้าอย่าได้รังแกเจ้าตัวที่เล็กกว่า ให้รักน้องเหมือนที่แม่รัก ส่วนเจ้าตัวเล็ก ๆ ทั้งหลาย ก็อย่าดื้อกับพี่ จงเคารพ และแสดงความนอบน้อมกับพี่ที่ดูแลเจ้า ให้เหมือนว่าพี่ของเจ้าก็คือแม่คนหนึ่ง พวกเจ้าเข้าใจที่แม่พูดไหม” ลูกไก่ทั้งเจ็ดเมื่อได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ และต่างพากันร้องไห้กระจองอแง แม่ไก่จึงปลอบลูกว่า 

    “การจากไปของแม่ในครั้งนี้ จะเป็นกุศลกับพวกเราทุกคน แม่จะได้เสียสละร่างกายเพื่อเป็นอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อตอบสนองพระคุณของตากับยายที่ได้ชุบเลี้ยงแม่มาตั้งแต่เล็ก ๆ ส่วนตากับยายก็จะได้รับบุญกุศลจากการที่ได้ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เมื่อยามท่านทั้งสองลาโลกนี้ไป ท่านก็จะได้ขึ้นสวรรค์ด้วยคุณงามความดีที่กระทำ ดูสิ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือ พวกเจ้าจงได้กล่าวอนุโมทนา สาธุ กับแม่เถิด แม่จะอุทิศบุญทั้งหมดที่แม่ได้ทำในครั้งนี้ให้แก่พวกเจ้า แม่ขอให้พวกเจ้าพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ได้รับบุญและกุศลที่แม่ทำ เหมือนกับว่าพวกเจ้าได้ทำกุศลนี้ด้วยตัวเอง”  แม่ไก่ปลอบขวัญลูกน้อยของเธอพร้อมกับน้ำตาที่อาบนองหน้า คืนนั้นแม่ไก่ก็กกลูกไก่ไว้ในอกทั้งคืน

    รุ่งเช้า ใกล้สว่าง แม่ไก่และลูกไก่ได้ยินเสียงตาเดินเข้ามาที่ใต้ถุนบ้าน ตาเปิดเล้าไก่เข้ามา และมองแม่ไก่ด้วยสายตาที่บ่งบอกว่า ตาเองก็สงสารและเวทนาในชะตากรรมของแม่ไก่ และลูกไก่ทั้งเจ็ดเหลือเกิน 

    “ถึงเวลาจำเป็นแล้วแม่ไก่เอ๋ย เจ้าจงอโหสิกรรมให้แก่ข้า ข้าจะนำเจ้าไปบัดเดี๋ยวนี้” ว่าแล้วตาก็จับตัวแม่ไก่ออกไปจากเล้า ลูกไก่ร้องเจี๊ยบ ๆ กันระงม 

    “แม่จ๋า แม่จ๋า แม่จ๋า ฮือ ๆๆๆๆ”

    ฟ้าเริ่มสว่างแล้ว ลูกไก่ได้ยินเสียงยายกับปรุงอาหารอยู่ ยายใช้ไม้พายกวนน้ำแกงในหม้อที่ตั้งอยู่บนเตาที่มีไฟแดงฉานลุกโชนอยู่ เสียงน้ำในหม้อเดือดขลัก ๆ  

    “ตาเอ้ย ฉันแกงไก่ใกล้เสร็จแล้ว รีบเตรียมสำรับเถิด เดี๋ยวจะไปตักบาตรไม่ทัน” ยายตะโกนบอกตาให้เร่งรีบจัดสำรับเพื่อที่จะนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่ปักกลดอยู่ที่ชายป่า ซึ่งก็เปรียบเสมือนการได้ตักบาตรในตอนเช้าตรู่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ การตักบาตรในตอนเช้า ชาวพุทธต่างเชื่อว่าการออกบิณฑบาตของพระสงฆ์ในตอนเช้านั้นเป็นการช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับส่วนบุญจากการตักบาตรนั่น 

    เมื่อเตรียมสำรับเสร็จแล้ว ตากับยายจึงได้นำภัตตาหารที่เตรียมไว้ไปถวายพระสงฆ์ที่ปักกลดอยู่ที่ชายป่าทันที 

    ในขณะเดียวกัน ลูกไก่ทั้งเจ็ดที่กำลังโศกเศร้า ต่างก็เดินโซซัดโซเซ กันอยู่บริเวณใต้ถุน และครัวของยาย เหล่าลูกไก่พบกองขนไก่กองหนึ่ง จำได้ว่าเป็นขนของแม่ 

    “แม่ของพวกเราคงจากเราไปแล้วจริง ๆ พวกเราคิดถึงแม่เหลือเกิน” 

    เมื่อตากับยายขออาราธนาศีล และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว พระภิกษุสงฆ์จึงได้ฉันอาหารนั้น จากนั้นตากับยายจึงได้กรวดน้ำอุทิศบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับและเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งแม่ไก่ด้วย 

    ในขณะที่ตากับยายกำลังกรวดน้ำอยู่นั้น เหล่าลูกไก่ทั้งเจ็ดก็เดินมาถึงกองไฟที่ยายใช้ทำกับข้าวเมื่อเช้านี้

    “พวกเรา กองไฟกองนี้สินะที่แม่ของพวกเราเดินหายจากไป หากพวกเราต้องการพบแม่อีกครั้ง พวกเราก็คงต้องเดินเข้าไปในกองไฟนี้ ไปพวกเรา ไปหาแม่กันเถิด” เหล่าลูกไก่ต่างเดินมุ่งตรงมายังกองไฟ

    ส่วนตากับยายเมื่อกรวดน้ำเสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ประพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นศิริมงคลให้แก่ตากับยาย ขณะที่น้ำพระพุทธมนต์กำลังรดลงบนตัวของตากับยายนั้น ลูกไก่ทั้งเจ็ดต่างก็พร้อมใจกันกระโดดเข้ากองไฟ ถูกไฟเผาไหม้ไปเป็นจุลในตอนนั้น

    ด้วยอานิสงค์แห่งบุญที่แม่ไก่ได้ทำไว้ในครั้งนี้ วิญญาณของลูกไก่ทั้งเจ็ดจึงจุติเป็นดาวลูกไก่บนท้องฟ้า เกาะกลุ่มกันเจ็ดพี่น้องสว่างไสวตลอดกาล

    เพลง... ดาวลูกไก่ ตอนที่ 1

    ศิลปิน... พร ภิรมย์ (แต่งและขับร้อง)
    โอ้ชีวิตคิดไฉน ว่าใครหนอใครลิขิต
    ประกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า
    ว่าต่างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก
    บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า

    จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท
    เป็นธรรมะปรมัตถ์ อ้างถึงอำนาจกรรมเก่า
    ว่ากุสะลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข
    อกุสะลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า

    บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมัววุ่น
    สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนดำที่ฉาบด้วยขาว

    ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตสิเหน่หา
    ที่จะเป็นนักเทศนา มาเจรจายั่วเย้า
    จึงตั้งศรัทธาสาทก เรื่องยาจกยากจน

    มีตากับยายสองคน ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา
    แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว
    เช้าก็ออกริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว
    เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ นังแม่ก็โอบปีกอุ้ม
    กางสองปีกออกคลุม พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า

    แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก เสียงกุ๊กกุ๊กปลุกขวัญ
    ลูกตอบเจี๊ยบเจี๊ยบดังลั่น ทั้งทั้งที่ขวัญเขย่า
    แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้
    ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์ ซิไม่มีสุขใดเท่า

    ถึงคราวจะสิ้นชีวิต เมื่ออาทิตย์อัสดง
    ยังมีภิกษุหนึ่งองค์ เดินออกจากตรงชายเขา
    ธุดงค์เดี่ยวด้นดั้น เห็นสายัณห์สมัย
    หยุดกางกรดพลางทันใด หลังบ้านตายายผู้เฒ่า

    อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง เปิดหน้าสองฟังเอา


    *********************
    เพลงแหล่ ดาวลูกไก่ 2

    ศิลปิน พร ภิรมย์

    พระธุดงค์ลงกลด ตะวันก็หมดแสงส่อง
    อาศัยโคมทองจันทรา ที่ลอยขึ้นมายอดเขา

    ฝ่ายว่าสองยายตา จึงเกิดศรัทธาสงสาร
    พระผู้ภิกขาจาร จะขาดอาหารมื้อเช้า
    อยู่ดงกันดารป่านนี้ หรือก็ไม่มีบ้านอื่น
    ข้าวจะกล้ำน้ำจะกลืน จะมีใครยื่นให้เล่า
    พวกฟักแฟงแตงกวา ของเราก็มาตายหมด
    นึกสงสารพระจะอด ทั้งสองกำสรดโศกเศร้า

    สักครู่หนึ่งตาจึงเอ่ย นี่แน่ะยายเอ๋ยตอนแจ้ง
    ต้องเชือดแม่ไก่แล้วแกง ฝ่ายยายไม่แย้งตาเฒ่า

    ฝ่ายแม่ไก่ได้ยิน น้ำตารินหลั่งไหล
    ครั้นจะรีบหนีไป ก็คงต้องตายเปล่าเปล่า
    อนิจจาแม่ไก่ ยังมีน้ำใจรู้คุณ
    ที่ยายตาการุณ คิดแทนคุณเม็ดข้าว

    น้ำตาไหลเรียกลูก เข้ามาซุกซอกอก
    น้ำตาแม่ไก่ไหลตก ในหัวอกปวดร้าว
    อ้าปากออกบอกลูก แม่ต้องถูกตาเชือด
    คอยดูเลือดแม่ไหล พรุ่งนี้ต้องตายจากเจ้า

    มาเถิดลูกมาซุกอก ให้แม่กกก่อนตาย
    แม่ขอกกเป็นครั้งสุดท้าย แม่ต้องตายตอนเช้า
    อย่าทะเลาะเบาะแว้ง อย่าขัดแย้งเหยียดหยัน
    เจ้าจงรู้จักรักกัน อย่าผลุนผลันสะเพร่า

    เจ้าตัวใหญ่สายสวาท อย่าเกรี้ยวกราดน้องน้อง
    จงปกครองดูแล ให้เหมือนดังแม่เลี้ยงเจ้า
    น่าสงสารแม่ไก่ น้ำตาไหลสอนลูก
    เช้าก็ถูกตาเชือด ต้องหลั่งเลือดนองเล้า

    ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด เหมือนถูกเด็ดดวงใจ
    ต่างพากันโดดเข้ากองไฟ ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว
    ด้วยอานิสงส์อันประเสริฐ ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว


  3.  

    วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

    ในเมื่อวันนี้ของทุก ๆ ปี เวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่ง ยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชานี้ว่า "วันพระสงฆ์" ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน ๘ อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ความสำคัญ ของวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ มีอยู่อย่างไร จะได้นำพุทธประวัติตอนหนึ่งมาเล่าต่อไปนี้ นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์ คือ 

    - สัปดาห์ที่ ๑ คงประทับอยู่ที่ควงไม้อสัตถะอันเป็นไม้มหาโพธิ์ เพราะเป็นที่ตรัสรู้ ทรงใช้ เวลาพิจรณาปฏิจจสมุปปาทธรรมทบทวนอยู่ตลอด ๗ วัน 

    - สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ประทับยืนกลางแจ้งเพ่งดูไม้มหาโพธิ์โดย ไม่กระพริบพระเนตรอยู่ในที่แห่งเดียวจนตลอด ๗ วัน ที่ที่ประทับยืนนั้นปรากฎเรียกในภายหลังว่า "อนิสิมสสเจดีย์" 

    - สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จไปประทับอยู่ในที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์แล้วทรง จงกรมอยู่ ณ ที่ตรงนั้นตลอด ๗ วัน ซึ่งต่อมาเรียกที่ตรงนั้นว่า "จงกรมเจดีย์" 

    - สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิ ธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ที่ประทับขัดสมาธิเพชร ต่อมาเรียกว่า"รัตนฆรเจดีย์" 

    - สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นมหาโพธิ์ประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธ อยู่ ตลอด ๗ วัน ในระหว่างนั้น ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์ 

    - สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้จิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอด ๗ วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา พญานาคมาวงขดล้อมพระองค์และแผ่พังพานบังฝนให้พระองค์ทรงเปล่งพระอุทานสรรเสริญความสงัดและความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นสุบในโลก 

    - สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้เกดเสวยวิมุตติ สุขตลอด ๗ วัน มีพาณิช ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงนำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงกรังของตนเข้าไปถวายพระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว สองพาณิชก็ประกาศตนเป็นอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในประวัติกาลทรงพิจารณาสัตว์โลกเมื่อล่วงสัปดาห์ที่ ๗ แล้ว พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธอีก ทรงคำนึงว่า  ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จีงท้อพระทัยที่สอนสัตว์ แต่อาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี ตอนนี้แสดงถึงบุคคล ๔ เหล่า เปรียบกับดอกบัว ๔ ประเภท คือ 

    ๑. อุคฆฏิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สอนสั่ง สอนเปรียบเทียบ เหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานในเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น 

    ๒. วิปจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านขยายความย่อให้พิสดารออกไปเปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขี้น 

    ๓. เนยยะ ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรม วิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ แต่จะโผล่แล้วบานขี้นในวันต่อๆ ไป 

    ๔. ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่อง แล้วก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือน ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเปือกตม รังแต่จะเป็นภักษาหารแห่งปลาและเต่า เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอน ทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ท่านเหล่านี้ก็หาบุญไม่เสียแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ปัญจวัคคีย์ จีงทรงตัดสินพระทัยว่า ควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน แล้วก็เสด็จออกเดินไปจากควงไม้ไทรนั้น มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี การที่เสด็จเดินทางจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสีเช่นนี้ แสดงให้เห็น เพระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าเป็นการตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแทัจริง หนทางระหว่างตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้น ในปัจจุบัน ถ้าไปทางรถไฟก็เป็นเวลา ๗-๘ชั่วโมง การเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า อาจใช้เวลาตั้งหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็นขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอาสาฬหะนั้นเอง 

    พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสีอันเป็นที่อยู่แห่งปัจจวัคคีย์พอเสด็จ เข้าราวป่าพวกปัญจจวัคคีย์นั้นได้เห็นจึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ และไม่รับบาตรจีวรจะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าพระองค์ กลายเป็นคนมีความมักมากหมดความเพียรเสียแล้ว พอพระองค์เสด็จถึง ต่างก็พูดกับพระองค์โดยไม่เคารพพระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ตรัสรู้แล้วจะแสดงธรรมสั่งสอนให้ฟังพราหมณ์ทั้ง ๕ ก็พากันคัดค้านลำเลิกด้วยถ้อยคำต่างๆ ที่สุดพระองค์จึงทรงแจงเตือนให้รำลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาในหนหลังบ้างหรือ พราหมณ์ทั้ง๕ ระลึกได้ ต่างก็สงบตั้งใจฟังธรรมทันที 
    ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับแรมอยู่กับพราหมณ์ทั้ง ๕ รุ่งขี้นวันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ พระองค์ทรงเริ่มแสดงธัมมะ-จักกัปปวัตตนสูตร นับเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นั้น โดยใจความคือทรงยกที่สุด ๒ ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้ง ๒ นี้นับว่า เป็นของเลวทราม ไม่ควรเสพเฉพาะทางสายกลางเท่านั้น เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่ 

                ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ 
                ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ 
                ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 
                ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ 
                ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 
                ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ 
                ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ 
                ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ 

    สรุปด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่ 

               ๑. ทุกข์ความไม่สบายกายไม่สบายใจ 
               ๒. สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ 
               ๓. นิโรธความดับทุกข์ 
               ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

    ชี้ให้เห็นโดยปริวรรตและอาการต่างๆ ว่า เมื่อรู้แล้วอาจยืนยันได้ว่า ตรัสรู้โดยชอบถึงความ หลุดพ้นและสุดชาติสุดภพแน่นอนขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตามจนเกิด "ธรรมจักษุ" คือดวงตาเห็นธรรมขึ้นทางปัญญาพระองค์ทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า "อัญญสิๆ""อัญญสิๆ"(โกณฑัญญะรู้แล้วๆ)เพราะพระองค์ทรงอุทานนี้ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" แต่นั้นก็ทูลขอบรรพชาพระองค์ประทานอนุญาตด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์ ตามพุทธประวัติที่เล่ามานี้ จะเห็นว่า วันอาสาฬหบูชามีความสำคัญ คือ 

    ๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา 
    ๒.เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ 
    ๓.เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น 
    ๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะพระสังฆรัตนะ 

    การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

    พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิตโดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ 

    ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะเพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนจบแล้วให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา ๒๔.๐๐ น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

    เมื่อวันอาสาฬหบูชาซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญอาสาฬหบูชาเดือน ๘ ของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ 
              ๑.พิธีหลวง (พระราชพิธี) 
              ๒. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป) 
              ๓. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้) 

    การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันอาสาฬหบูชาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา 

    --------------------------------------------------------------------------------

    บรรณานุกรม 
    ๑. จ. เปรียญ. ประเพณีและพิธีมงคลไทย. ธรรมบรรณาคาร. ๒๕๑๘ กรุงเทพ ฯ.
    ๒. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดี. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้า.๒๕๓๖ กรุงเทพ ฯ.
    ๓. สุเมธ เมธาวิทยกุล. สังกัปพิธีกรรม. พริ้นติ้ง เฮ้า. ๒๕๓๒ . กรุงเทพ ฯ.
    ๔. แสงฉาย อนงคาราม. อานิสงค์จากพระไตรปิฎก. ส. ธรรมภักดี. กรุงเทพ ฯ.
    ๕. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย เทศกาลและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ม.มจร กรุงเทพ ฯ.

     

    ขอบคุณข้อมูลจาก  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

  4.  สำนักพระราชวัง เผยแพร่แถลงการณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวรหมดพระสติ ด้วยอาการทางพระหทัย ขณะทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยง ณ สนามฝึกกองพันสุนัขทหาร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

     แถลงการณ์จากสำนักพระราชวังที่สื่อมวลชนได้รับ เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. วันนี้ (15 ธ.ค.) ความว่า "เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 เวลา 18.20 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยงที่จะเข้าแข่งขันสุนัขใช้งานตามมาตรฐานสากลในรายการ Thailand Working Dog Championship by Royal Thai Army 2022 ระหว่างวันที่ 10-19 ธันวาคม 2565 ณ สนามฝึก กองพันสุนัขทหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา..."

     "ในระหว่างที่ทรงทำการฝึก ทรงมีพระอาการ ประชวรหมดพระสติ ด้วยพระอาการทางพระหทัย คณะแพทย์ประจำพระองค์จึงได้เชิญเสด็จพระราชดำเนินไปปฐมพยาบาล ณ โรงพยาบาลปากช่องนานา พระอาการประชวรคงที่ในระดับหนึ่ง จากนั้น ได้เชิญเสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อถวายการตรวจพระวรกายอย่างละเอียด และประทับรักษาพระองค์ต่อไป"

    สำนักพระราชวัง

    ที่มาของภาพ,

    สำนักพระราชวัง

    เปิดลงนามถวายพระพร

    สภากาชาดไทยแถลงว่าตั้งแต่ 16 ธ.ค จะเปิดลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไม่เว้นวันหยุดราชการ

    ตั้งแต่บ่าย 15 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้เตรียมนำโต๊ะหมู่ ต้นไม้ พร้อมนำพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาติดตั้งที่หน้าทางขึ้นลิฟท์ขนย้ายผู้ป่วยชั้น 1อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรวมถึงผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องบันทึกภาพ

    หลังประกาศของสำนักพระราชวัง ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาติดตามพระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เพื่อถวายกำลังใจ และเฝ้าฯ รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ขณะเสด็จออกจากอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มาประทับรถยนต์พระที่นั่ง เวลา 14.43 น.

    องค์ภา

    ที่มาของภาพ,

    GETTY IMAGES

    สื่อต่างประเทศรายงาน

    สื่อต่างประเทศต่างรายงานพระอาการประชวร อ้างแถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง

    เว็บไซต์บีบีซีภาษาอังกฤษ รายงานอ้างแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังไทยว่า พระราชธิดาองค์โตของกษัตริย์ไทยทรงพระประชวรจากอาการทางหัวใจเมื่อเย็นวันพุธ

    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาองค์โตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยง ณ สนามฝึกกองพันสุนัขทหาร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

    สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเข้ารับการรักษาพระอาการประชวรด้วยพระอาการทางพระหทัย และพระอาการของพระองค์คงที่ในระดับหนึ่ง ภายหลังทรงหมดพระสติขณะประทับอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นคณะแพทย์เชิญเสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

    สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสรายงานว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยที่มีราชวงศ์ที่ทรงอิทธิพลอยู่บนยอดปิรามิด ได้รับการปกป้องจากเสียงวิจารณ์ด้วยกฎหมายหมื่นประมาทที่รุนแรง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีต่อกระทงความผิด

    พระองค์ทรงศึกษาในระดับมัธยมในอังกฤษในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนทรงเข้าศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในประเทศ และทรงได้รับดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐฯ

    เอเอฟพีรายงานว่า พระองค์ทรงมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และแวดวงกฎหมายของไทย ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อปี 2555 ก่อนทรงกลับมารับตำแหน่งอัยการ ทรงมีความสนใจพิเศษด้านการปราบปรามการค้ายาเสพติด

    จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลเอก) และพระราชทานพระยศเป็น พลเอกหญิง

    เว็บไซต์บีบีซีภาษาไทย

  5. ณ กรุงพาราณสี ในสมัยพุทธกาล ยังมีหนุ่มน้อยคนหนึ่งนามว่า ยสะ  เป็นลูกชายของเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีแห่งนั้น ผู้เป็นแม่ก็คือ นางสุชาดา ผู้ที่เคยถวายข้าวมธุปายาสแก่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งก่อนที่จะทรงตรัสรู้นั่นเอง ผู้เป็นพ่อให้ความรักและดูแลบุตรชายเป็นอย่างดี สร้างคฤหาสน์ให้อยู่สามหลัง สำหรับพักผ่อนในสามฤดู มีข้าทาสบริวารทั้งชายหญิงคอยรับใช้ ชีวิตมิได้ลำบากอะไรเลย กลางค่ำกลางคืนก็มีนางงามสวย ๆ คอยปรนนิบัติมิได้ขาด

    จนวันหนึ่งขณะที่หนุ่มน้อยยสะ ตื่นขึ้นมากลางดึกก็พบเห็ยสภาพของบ่าวรับใช้ และนางงามที่เห็นว่างดงามยิ่งนัก ขณะนี้พวกเขาดูเปลี่ยนไป ทั้งนอนอ้าปากหวอ ท่าทางเหมือนคนพิกลพิการในขณะหลับไหล จึงนึกปลงสังเวช รู้สึกเบื่อหน่ายสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา จึงออกจากบ้านไปกลางดึก เดินออกไปเรื่อย ๆ มุ่งไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเดินรำพึงไปด้วยว่า 

    "ช่างน่าเบื่อเหลือเกิน ช่างวุ่นวายเหลือเกิน ไม่เห็นน่าอภิรมย์ตรงไหนเลย"  

    ในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อเดินไปจนถึงใกล้กุฎิที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ก็ยังเดินพร่ำบ่นอยู่อย่างนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงได้ยินก็ทรงตรัสขึ้นมา 

    "เจ้าจงเข้ามาที่นี่เถิด เราจะแสดงให้เจ้าเห็นที่ที่เจ้าจะไม่วุ่นวาย หรือเบื่อหน่ายอีกต่อไป"

    ยสะถอดรองเท้าทองคำไว้หน้ากุฏิ แล้วเดินเข้าไปในกุฎิขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าและก้มลงกราบ องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า  อนุปุพพิกถา อันได้แก่ พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงสูงขึ้นไปตามลำดับจากง่ายไปหายากเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน จนสามารถปล่อยวางความยึดติดอยู่กับกามคุณได้ และจากนั้นจึงแสดง "อริยสัจ ๔" ความจริงอันประเสริฐ ให้แก่หนุ่มน้อยยสะได้รับฟัง


    เมื่อยสะได้รับฟังพระธรรมเทศนาแล้วจึงบังเกิดจิตที่ไม่ยึดติดกับกามคุณอีกต่อไป ยสะบรรลุพระอรหันต์ขั้นที่ ๑ คือ พระโสดาบัน

    ส่วนทางบ้าน เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา แม่ไม่เห็นบุตรชายในบ้านก็เกิดความเป็นห่วง จึงรีบแจ้งให้สามีทราบถึงการหายตัวไปของลูกชาย เขาจึงได้ส่งทหารม้าออกไปทั้งสี่ทิศเพื่อค้นหายสะ ส่วนตัวพ่อของยสะนั้นมุ่งหน้าไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตามทางที่รองเท้าทองคำทิ้งไว้ 

    พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นบิดาของยสะแต่ไกล ทรงดำริว่า “เป็นการดีที่จะซ่อนยสะไว้ไม่ให้พ่อเห็น” จึงกันยสะให้พ้นสายตาพ่อก่อน

    เมื่อเดินทางไปถึงกุฎิของพระพุทธเจ้า จึงขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า 

    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านได้เห็นยสะคนในตระกูลของข้าพเจ้าผ่านมาทางนี้หรือไม่” 

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า 

    “ท่านเศรษฐี ถ้าท่านต้องการพบบุตรชายของท่าน ท่านจงนั่ง ณ ที่นี้เถิด แม้จะนั่งอยู่ตรงนี้ ท่านก็ยังจะได้เห็นลูกชายของท่านนั่งอยู่ใกล้ๆ นี่แหละ”

    ครั้นแล้ว ท่านเศรษฐีก็เกิดความยินดีด้วยคิดว่า 

    “เราจะได้เห็นยสะบุตรของเรานั่งใกล้ ๆ ในขณะที่เรานั่งอยู่นี้!”. 

    จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว นั่งลง ณ ที่แห่งนั้น

    เมื่อประทับนั่งอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโดยลำดับ ดังนี้ (๑) ธรรมว่าด้วยกุศลทาน (ทานกถา) หมายถึงการให้ การเสียสละ การบริจาค การช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์กันและกัน (๒) ธรรมเกี่ยวกับศีล (ศีลกถา) (๓) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเกี่ยวกับปลายทางแห่งความสุข (สังคกถา) และ (๔) พระธรรมว่าด้วยแนวทางอันดีงามและแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลและนิพพาน (มัคคกถา) 

    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าจิตของท่านเศรญฐีผ่อนคลายลงแล้ว ปราศจากอคติ เบิกบาน โสมนัส และสงบแล้ว พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ หรืออริยสัจสี่ ที่พระองค์ทรงค้นพบ  ท่านคฤหบดีเสรษฐีก็ได้บรรลุธรรมชั้น๑ พระโดาบัน ในทันที (บิดาของยสะ เป็นฆราวาสคนแรกในหมู่ฆราวาสทั้งปวงที่ได้เป็นพระโสดาบันสาวกในสมัยพุทธกาล) 

    กาลนั้น บิดาของยสะกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 

    "น่ายินดียิ่งนัก พระเจ้าข้า! สิ่งที่วางอยู่ด้านล่างถูกพลิกกลับขึ้นมาด้านบน ฉันใด อุปมาทางโลกก็เป็นเช่นนั้น สิ่งที่ปกปิดไว้ก็ถูกเปิดเผยออกมา ฉันนั้น คนหลงทางมาตั้งนาน วันนี้ถูกชี้นำไปในทางที่ถูกต้องฉันใด ก็เหมือนท่านได้จุดประทีปไว้ในที่มืด ฉันนั้น  เหมือนกับท่านได้เปิดตาให้แก่ผู้มีจักษุได้เห็นสิ่งที่เป็นจริงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ากลับมีรูปร่างขึ้นมาให้เห็นได้ง่ายดาย"

    "พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ข้าพเจ้าอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่สรณะนับแต่นี้ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดรับข้าพเจ้าเป็นสรณะอันประกอบด้วยพระรัตนตรัย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เทอญ !" 

    ท่านเศรญฐี บิดาของยสะจึงได้เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นคนแรกในสมัยพุทธกาล

    ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมแก่บิดานั้น ยสะเองก็ได้บรรลุมรรค ๓ ขั้นสูงสุด และบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยพิจารณาอริยสัจ ๔ ตามแนวปฏิบัติที่ได้รู้มาแล้วตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ยสะจึงหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ โดยเฉพาะตัณหาและความเห็นผิด (ตัณหา-ทิฏฐิ) ว่าเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” และหลุดพ้นจากอาสวะซึ่งสิ้นไปด้วยการไม่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง 

    ( อาสวะ นั้นก็คือ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่องทับถมอยู่ในจิต ชุบย้อมจิตให้เศร้าหมอง ให้ขุ่นมัว ให้ชุ่มอยู่เสมอ เรียกย่อว่า อาสวะ ก็ได้ มี ๔ อย่าง คือ กาม ได้แก่ ความติดใจรักใคร่อยู่ในกามคุณ ภพ ได้แก่ ความติดอยู่ในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ทิฏฐิ ได้แก่ ความเห็นผิด ความหัวดื้อหัวรั้น และอวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้จริง ความลุ่มหลงมัวเมา)

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นแล้วว่าทั้งยสะและบิดาต่างก็บรรลุโสดาบันแล้ว พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พ่อและบุตรชายได้พบเห็นกัน 

    ทันใดนั้น เมื่อท่านเศรษฐีเห็นบุตรชายเข้ามานั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็ดีใจเป็นอันมาก จึงกล่าวต่อยสะว่า 

    “ยสะลูกเอ๋ย! แม่ของเจ้าขณะนี้ตกอยู่ในสภาพวิตกกังวลและโศกเศร้า ร้องไห้ที่ไม่ได้พบเจ้า จึงให้พ่ออกตามหาเจ้ามาตั้งแต่เช้ว  เจ้าจงกลับไปหานางเถิด ไม่เช่นนั้นนางต้องเสียใจจนขาดใจตายเสียแน่ ๆ"

    ยสะนิ่งเงียบ ไม่ตอบบิดา เงยหน้าขึ้นมองพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงตรัสถามท่านเศรษฐีว่า 

    “ท่านเศรษฐี ท่านโปรดพิจารณาคำถามที่เรา พระพุทธเจ้ากำลังจะถามท่านตอนนี้เถิด? ยสะ ขณะนี้ได้น้อมรับความจริงอันประเสริฐสี่ประการด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมจนบรรลุพระโสดาบันแล้ว อย่างที่ท่านก็เป็นอย่างนั้นแล้วเช่นกัน และเมื่อได้ใคร่ครวญจนรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ด้วยการปฏิบัติให้รู้แจ้งตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรคแล้ว ก็บรรลุมรรค ๓ เบื้องบนตามลำดับ และขณะนี้ ยสะนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เนื่องด้วยอาสวะสิ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ย่อมหลุดไปในกามภพ แล้วท่านจะให้เขากลับไปเสวยกามสุขอย่างที่เคยปฏิบัติมาหรือ?” 

    ท่านเศรษฐีจึงตอบว่า 

    “ไม่ขอรับ ข้าแต่พระองค์”

    พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสต่อว่า 

    "ท่านเศรษฐี ยสะนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เนื่องด้วยอาสวะสิ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ย่อมหลุดไปในกามภพ เขาจะไม่กลับไปเสวยกามสุขอย่างที่เคยปฏิบัติมา"

    ท่านเศรษฐีจึงกล่าวว่า 

    “ข้าแต่พระพุทธองค์! เนื่องจากจิตใจของยสะหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ โดยสิ้นเชิงแล้ว ด้วยตัณหาและความเห็นผิดว่าสิ่งนั้นเป็น “เรา” และ “ของเรา” หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว เขาจะได้เสวยสุขและประโยชน์ในชีวิตที่จะดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง  พระพุทธองค์! เพื่อข้าพเจ้าจะได้รับบุญกุศลอันยิ่งใหญ่และเพื่อความปิติ อิ่มเอมใจ ขอท่านจงรับนิมนต์ให้ข้าพเจ้าได้ถวายภัตตหารที่บ้านของข้าพเจ้า โดยมี ยสะ เป็นผู้ติดตามไปข้างหลังท่านด้วยเถิด”

    พระองค์ทรงรับด้วยอาการดุษณียภาพ (ดุษณีภาพ คือการรับนิมนต์ของพระบรมศาสดา ได้แก่ ทรงนิ่ง) 

    ครั้นเมื่อทราบแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์ เศรษฐีจึงลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเพื่อเดินทางกลับเรือน ท่านเศรษฐีแสดงความเคารพโดยการกราบ และเวียนประทักษิณสามรอบก่อนจากไป

    ครั้นท่านเศรษฐีจากไปไม่นาน ยสะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วทูลขอบรรพชา 

    “พระพุทธเจ้าข้า! ขอให้ข้าพเจ้าได้รับการอุปสมบท ต่อพระพักตร์พระองค์”

    พระองค์จึงทรงบรรชาให้แก่ยสะในเวลานั้น ยสะได้กลายเป็นพระภิกษุผู้บริบูรณ์ดุจพระเถระอายุยืน ๖๐ พรรษา พร้อมสรรพด้วยอิทธิฤทธิ์ ๘ ประการ 

    เมื่อทรงแบรรพชาให้แก่ยสะเป็นเอหิภิกขุแล้ว รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าจึงทรงเสด็จดำเนินไปที่บ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา ทรงจีวรและถือบาตรโดยมีพระยสะเป็นภิกษุผู้ติดตาม และเมื่อไปถึง ประทับนั่งขัดสมาธิในอาสน์อันสูงส่งซึ่งจัดไว้อย่างพร้อมเพรียง ต่อจากนั้น นางสุชาตา ภริยาของท่านเศรษฐี และผู้เป็นมารดาของพระยสะ พร้อมทั้งอดีตภีิยาของพระยสะได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร 

    ครั้นประทับนั่งแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่มารดาและภริยาเก่าของพระยสาให้ถึงซึ่งมรรคผล (๑) ธรรมว่าด้วยกุศลทาน (ทานกถา) (๒) ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ธรรมว่าด้วยศีล (สีลากถา) (๓) ธรรมที่เกี่ยวกับความสุข สุคติ (สัคคถา) และ (๔) ธรรมที่เกี่ยวกับทางดีและแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล และพระนิพพาน (มัคคคาถา) และทรงแสดงโทษแห่งกามคุณ พร้อมทั้งอานิสงส์แห่งการสละชีวิตครองเรือน ต่อจากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าจิตของทั้งคู่อ่อนเอนลงแล้ว ปราศจากอุปสรรค มีแต่ความปิติ ยินดี บริสุทธิ์และผ่องใสแล้ว พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแต่เดิม คือ อริสัจ ๔ แก่ทั้งสองนาง ครั้งนั้น มารดาของยสะและภริยาเก่าของท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล ทั้งสองกล่าว อนุโมทนา สาธุ ด้วยความปิติ 

    จากนั้น ทั้งท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดา นางสุชาดา มารดา และภริยาเก่าก็ได้ถวายภัตตาหารแก่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าและพระยสะ 

    หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเพื่อนเก่าของพระยสะในขณะที่ยังเป็นฆารวาส ได้แก่ วิมาลา สุบาหุ ปุณณชี และควันมปติ ทุกคนล้วนเป็นลูกชายเศรษฐีในเมืองพาราณสีเช่นเดียวกัน ได้ยินว่าเพื่อนรักยสะได้บรรพชาเป็นพระ และได้ละทิ้งทรัพย์สมบัติของตระกูลไปแล้ว 

    เมื่อได้ยินว่ายสะผู้เป็นสหายของตนได้สละทรัพย์และสมบัติมหาศาลออกบวชแล้ว บุตรพ่อค้าเศรษฐีทั้ง ๔ นี้จึงใคร่ครวญพิจารณาดังนี้ 

    "ยสะสหายของเราสละชีวิตครอบครัวและทางโลกแล้ว ออกผนวชด้วยการโกนศีรษะและเครา และห่มจีวร ดังนั้นพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าจึงมิอาจด้อยกว่าทรัพย์สมบัติเหล่านั้นได้ (จะต้องเหนือกว่าแน่นอน) สภาพความเป็นพระจะด้อยกว่าสภาพความเป็นฆารวาสไม่ได้ (มันจะเหนือกว่าอย่างแน่นอน)”

    พวกเขาจึงพากันไปพบพระยสะที่วัด พระยสะจึงนำาสหายเก่าทั้งสี่คนไปเข้าเฝ้าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และกล่าวต่อพระองค์ว่า

    "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค นี่คือสหายเก่าทั้งสี่ของข้าพเจ้า สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นฆารวาส พวกเขามีนามว่า วิมาลา สุบาหุ ปุณณชี และควันมปติ วันนี้พวกเขามาที่นี่เพื่อจะได้ทราบว่าทำไมข้าพเจ้าจึงได้ละซึ่งทางโลกมาบรรพชาเป็นพระภิกษุ เช่นนี้ ขอได้โปรดพระองค์ทรงประทานพระธรรมเทศนาแด่พวกเขาด้วยเถิด"

    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาไห้แก่สหายทั้งสี่ เมื่อพวกเขาได้ฟังพระพระธรรมเทศนาแล้วจึงเกิดบรรลุโสดาบัน ซาบซึ้งในรสพระธรรม ขอบรรชาเป็นพระเหมือนกับพระยสะ เช่นกัน

    หลังจากนั้นไม่นาน สหายเก่าอีก ๕๐ คน ก็ได้ร่วมบรรพชาต่อหน้าพระสัมมาสมัพุทธเจ้า

    จึงนับว่า การอุปสมบทของพระยสะในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์สุขให้หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะว่าท่านยังสามารถ ชักจูงผู้อื่นเข้ามาอุปสมบทด้วย เช่น สหายของท่านอีก ๕๔ คน


  6. วัตรปฏิบัติประจำวันหรือกิจวัตรประจำวันของพระพุทธเจ้านั้นแบ่งออกเป็น ๕ ช่วงเวลา ได้แก่

    ขอบคุณภาพประกอบจาก สังคมศึกษา ป.6 - blogger

    ช่วงเช้า เวลา ๔.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
    พระพุทธเจ้าจะตื่นบรรทมตั้งเเต่เวลา ๔.๐๐ น. ทันทีหลังจากสรงน้ำเสร็จ พระองค์จะนั่งสมาธิต่อเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง  ตั้งแต่ ๕.๐๐ ถึง ๖.๐๐ น. พระองค์จะมองไปรอบโลกด้วยญาณเพื่อดูว่ามีใครต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์หรือไม่ หลังจาก ๖.๐๐ น. พระองค์จะห่มจีวรแล้วออกไปด้านนอกกุฎิเพื่อประทานความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้และผู้ที่กำลังขออาหาร

    พระองค์ออกบิณฑบาตรจากบ้านหลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่งไปเรื่อย ๆ พระเนตรก้มมองดิน รับอาหารจากผู้ที่นำอาหารมาใส่บาตรอย่างเงียบ ๆ พระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรขณะที่รับบิณฑบาตร บางครั้งพระองค์ก็ออกไปพร้อมกับเหล่าสาวก ซึ่งเหล่าสาวกก็จะเดินตามหลังพระองค์ไปเป็นขบวน  และบ่อยครั้งที่อุบาสก อุบาสิกาที่เลื่อมใสจะนิมนต์พระองค์ไปฉันเพลที่บ้านเรือนของพวกเขา พระองค์ก็จะทรงประทานเทศนาธรรมแก่พวกเขาและเหล่าผู้ที่เข้าเฝ้าในกาลนั้นด้วย 

    ช่วงเวลาบ่าย (๑๒.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.)
    ในช่วงบ่ายเป็นช่วงที่เหล่าพระภิกษุสงฆ์จะขอทูลเข้าเฝ้าเพื่อสนทนาธรรม ซักถามปัญหาที่สงสัย และพระองค์จะทรงเทศนาสั่งสอนพระภิกษุเหล่านั้น จากนั้นพระองค์จะเสด็จกลับเข้ากุฎิ นั่งสมาธิเพ่งญาณเพื่อมองหาผู้ทุกข์ยากที่ต้องการความช่วยเหลืออีกครั้ง เมื่อพบผู้คนเหล่านั้นด้วยญาณ พระองค์ก็เสด็จออกไปหาพวกเขา พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนบุคคลเหล่านั้นเป็นคน ๆ ไป ตามแต่ปัญหาของแต่ละคน  

    "ให้ความปิติแก่ผู้ที่มีปัญญาอยู่แล้ว ส่งเสริมเพิ่มพูนปัญหาให้กับคนที่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ และปัดเป่าความเขวาอันทำให้ปัญญามืดมนให้กับคนที่มืดบอดด้วยปัญญาจริง ๆ "

    รอบหัวค่ำ (๑๘.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น.)
    ในช่วงเวลานี้เหล่าสาวกจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งเพื่อฟังหรือถามปัญหาให้กระจ่าง

    ช่วงเที่ยงคืน (๒๒.๐๐ -   ๒.๐๐ น.)
    ในช่วงเวลานี้เทวดาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและเรียนรู้สัจธรรมแห่งชีวิต พระพุทธองค์ทรงตอบคำ ถาม แก่เทวดาเหล่านี้

    ช่วงเวลาสุดท้ายแห่งวัน (๒.๐๐ - ๔.๐๐ น.
    ในชั่วโมงแรกพระองค์จะเสด็จเดินจงกรมขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อผ่อนคลายอริยบทที่เคยนั่งขัดสมาธิมาทั้งวันเพื่อสั่งสอนเหล่าสาวก จากนั้นจึงทรงบรรทมเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง นั่นคือพระองค์จะทรงบรรทมเพียงวันละหนึ่งชั่วโมงเท่านั้นในระยะเวลา ๔๕ ปีที่ท่านทรงโปรดสัตว์ และสั่งสอนเหล่าสาวก พระองค์มีเวลาพักผ่อนน้อยมาก แต่ได้ช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์นับล้านทั่วทั้งจักรวาลให้พ้นทุกข์ได้



  7. ในสมัยพุทธกาล 

    วันหนึ่งขณะที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมชมสถานที่ในวัด พระองค์ผ่านไปยังกุฎิที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังนอนอยู่บนที่นอนพร้อมกับครางครวญด้วยความเจ็บปวด พระองค์จึงเสด็จเข้าไป พบว่าพระภิกษุรูปนี้กำลังอาอาพาธด้วยโรคท้องร่วงอย่างรุนแรง นอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตนเองอยู่ในที่นอนบนพื้นกุฎิ แม้จะมีพระภิกษุรูปอื่นในวัดตั้งมากมายหลายคนก็ไม่มีใครสนใจเป็นห่วงเป็นใย และเข้ามาช่วยเหลือพระภิกษุรูปนี้ 

    พระองค์ทอดพระเห็นพระภิกษุผู้ทนทุกขทรมานรูปนี้ด้วยความโศกเศร้าพระทัยยิ่งนัก พระองค์จึงเข้าไปประคองและไถ่ถามถึงอาการด้วยความห่วงใย จากนั้นได้ตรัสเรียกให้พระอานนท์ให้ตักน้ำเข้ามา ทั้งพระอานนท์และองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต่างช่วยกันชำระล้างร่างกายและที่นอนที่สกปรกของภิกษุผู้อาพาธนั้นจนสะอาด และจัดแจงที่นอนใหม่ จีวรใหม่ให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแล เสร็จแล้วก็ช่วยกันป้อนยาเพื่อให้บรรเทาอาการเจ็บปวด 

    ขอบคุณภาพประกอบจาก dhammadipa.net
    หลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมเหล่าภิกษุทั้งหมดในวัด พระองค์ทรงตักเตือนเหล่าภิกษุที่เพิกเฉยต่อผู้ป่วยในวัด ทรงตรัสถามว่า 
     
    "เหตุใดพวกท่านจึงไม่ดูแลภิกษุที่ป่วยใข้หรือ?" 

    "เพราะภิกษุรูปนี้ มิได้กระทำอันใดที่เป็นประโยชน์ต่อเหล่าข้าพเจ้าเลย พระพุทธเจ้าข้า" เหล่าภิกษุตอบ

    "เหล่าภิกษุทั้งหลาย ท่านมาอยู่ที่วัดแห่งนี้ มิได้มีบิดา มารดาที่รักเรายิ่งมาคอยดูแล หากพวกนั้นไม่ดูแลเหล่าภิกษุกันเองแล้ว ใครเหล่าจะดูแล" 

    "ต่อจากนี้ไป ผู้ใดที่ให้การพยาบาลพระภิกษุที่ป่วยอาพาธซึ่งเขาเหล่านั้นเป็นภิกษุแห่งเรา ก็เท่ากับพวกท่านได้พยาบาลเราด้วย เช่นกัน"

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ 
    ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้ามีสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้ามีอันเตวาสิก (ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนักเดียวกัน) อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย 
    ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ.

    พระพุทธองค์ทรงตรัส
    ภายหลังจึงปรากฏใน พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒


     

  8. ณ เมืองสาวัตถี สมัยพุทธกาล ยังมีชายจัณฑาลคนหนึ่งนามว่า สุนิต ขายคนนี้เป็นคนกวดถนนในเมืองนี้ ไม่มีรายได้อะไรที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ต้องนอนข้างถนน ไม่มีแม้บ้านจะอยู่อาศัย สุนิตเห็นบรรดาผู้คนที่มีชนชั้นวรรณะสูงกว่าตนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ตัวเขาเองนั้นไม่สามารถจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ตามธรรมเนียมของอินเดีย ชนชั้นกลุ่มจัณฑาลนั้นช่างเป็นชนชั้นที่ต่ำต้อย 

    คนจัณฑาลนั้นคือลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากต่างวรรณะกันแต่งงานกัน ซึ่งผิดกฏแห่งการแบ่งชนชั้นในสมัยอินเดียโบราณ พวกเขาจะถูกลงโทษให้เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าทาสเสียอีก จึงไม่แปลกเลยที่สุนิตจะต้องถูกแปลกแยกออกจากบรรดาผู้คนที่อยู่ในชนชั้นที่สูงกว่า ชีวิตจึงเป็นเหมือนดั่งต้องคำสาป 

    เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นสูงสัญจรผ่านมา สุนิตจะต้องวิ่งหลบหนีไปแอบไม่ให้ใครเห็น ถ้าวิ่งไม่ไวพอก็จะโดนตะโกนด่า ต่อว่า และถูกทุบตี  สุนิตผู้น่าสงสารมีชีวิตที่น่าสังเวชเหลือเกิน

    วันหนึ่ง ขณะที่สุนิตกำลังกวาดถนนอยู่นั้น เขาได้เห็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมกับเหล่าพระสงฆ์ผู้ติดตามใกล้เข้ามาในทางที่เขาทำงานอยู่ ในใจนั้นทั้งปิติยินดีที่ได้เห็น อีกใจนั้นก็หวาดกลัว เกรงว่ายืนอยู่ตรงนั้นแล้วจะต้องถูกก่นด่าหรือถูกทุบตี แต่ไม่ทันแล้ว ขบวนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้เข้ามาจนสุวิตคิดหนีไม่ทัน หาที่กำบังก็ไม่มีสะเลยแถวนั้น เขาจึงได้แค่ยืนนิ่ง ๆ พนมมือทั้งสองข้างขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ 
    ขอบคุณภาพประกอบจาก dakinitranslations.com
    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าหยุดตรงหน้าสุนิต และตรัสกับสุนิตผู้น่าสงสารด้วยสุรเสียงอันอ่อนโยนว่า 

    "เจ้าเพื่อนยากของเรา เจ้าอยากจะเลิกเป็นคนกวาดถนนแล้วไปกับเราไหม"

    ไม่เคยมีใครในโลกนี้ที่เคยพูดจากับสุนิตด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนและเป็นมิตรอย่างนี้มาก่อนเลย หัวใจของสุนิตตอนนี้รู้สึกเอิบอิ่ม ปิติไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ น้ำตาทันใดก็ไหลอาบแก้มโดยไม่รู้ตัวด้วยความซาบซึ้งใจ 

    "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเมตตา ข้าพเจ้าเคยแต่ได้รับคำสั่งที่แข็งกร้าว ด่าทอ และไม่เคยได้ยินใครพูดกับข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยนเช่นนี้มาก่อนเลย ถ้าท่านจะรับทาสที่แสนสกปรกและมีสภาพน่าสังเวชอย่างข้าพเจ้าให้ติดตามท่านไปด้วยแล้ว ข้าพเจ้าขอน้อมรับความกรุณาของท่านอย่างไม่มีเงื่อนไขเลย พะยะค่ะ"

    เมื่อสุนิตน้อมรับความกรุณาของพระองค์เช่นนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงบวชให้สุนิตเป็นพระภิกษุสงฆ์ และให้ติดตามพระองค์ไปพร้อม ๆ กับพระสงฆ์รูปอื่น ๆ 

    พระพุทธเจ้าอนุญาตให้สุนิตอุปสมบทได้ 
    แม้สุนิตจะเป็นชนชั้นจัณฑาลที่ต่ำต้อย ก็ให้บวชได้เช่นเดียวกับเชื้อกษัตริย์ทั้งหลาย ไม่ให้แบ่งแยกชนชั้นวรณะ ให้มีความเท่าเทียมกัน

    พระพุทธองค์ตรัสว่า

    “การรับชาวจัณฑาลเข้าสู่คณะสงฆ์เป็นเพียงปัญหาของกาลเวลา มรรคของเราเป็นมรรคแห่งการเสมอภาค เราปฏิเสธชนชั้นวรรณะ แม้เราต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการอุปสมบทให้พระสุนิต เราก็ได้เปิดประตูเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งชนรุ่นอนาคตจะขอบคุณเรา เราต้องมีความกล้าหาญไว้”

    หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครทราบเลยว่าระดับชนชั้นของสุนิตนั้นคืออะไร ไม่มีใครปฏิบัติต่อพระภิกษุสุนิตด้วยความโหดร้ายหรือรังเกียจอีกเลย ทุกคนไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ แม่ทัพ นักรบ หรือเหล่าเสนา ก็ต่างเคารพยกย่องพระภิกษุสุนิต ในนามของพระสงฆ์ผู้เจริญ พระสงฆ์ผู้เป็นสาวกแห่งสัมมาสัมพุทธเจ้า มาตั้งแต่นั้น


  9. ณ เมืองสาวัตถี ในสมัยพุทธกาล ยังมีหนุ่มน้อยคนหนึ่งนามว่า วักกลี หนุ่มน้อยคนนี้หลงไหลในในพระพุทธสรีระที่งดงามขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่งจึงคิดว่า

    "หากเราอาศัยอยู่แต่ที่บ้าน ฉันจะไม่ได้เห็นองค์พระพุทธเจ้า แต่ถ้าฉันบวชเป็นพระเมื่อไหร่ ฉันก็คงจะได้เฝ้ามองพระองค์ทุกวัน"

    หลังจากนั้นไม่นานหนุ่มน้อยวักกลีก็ไปขอบวชกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระที่วัดพระเชตวันวรมหาวิหาร
    ขอบคุณภาพประกอบจาก budusarana.lk
    ดังนี้แล้ว พระวักกลีก็มีโอกาสให้เฝ้ามององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าคลั่งไคล้ก็ว่าได้ วันทั้งวันก็ไม่ได้ทำอะไร คอยแต่จะติดตามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าไปทุกที่ดั่งเงา องค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่นหวังว่าสักวันพระวักกลีจะได้มีปัญญาเกิดขึ้นสักวัน จึงไม่ได้ตรัสห้ามปรามอะไร

    แต่แทนที่พระวักกลีจะอ่านเขียน ฝึกปฏิบัติธรรมเหมือนพระภิกษุรูปอื่น ๆ วักกาลีก็เพียงคอยตามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าไปทุกที่ไม่ได้หยุดหย่อน องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงคิดว่า

    "ถ้าพระภิกษุรูปนี้ไม่ได้เสียใจอะไรเสียบ้างก็คงไม่เข้าใจอะไร ๆ ง่าย" 

    จนเมื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ารับนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์เป็นเวลาสามเดือน แล้วทิ้งพระวักกลีไว้ที่วัดพระเชตวัน

    พระวักกลีก็เกิดอาการเศร้าสร้อย และพลางคิดว่า

    "ระยะเวลาเข้าพรรษาสามเดือนนั้นมันช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ฉันจะต้องทรมานใจแค่ไหนในช่วงเวลานี้ ฉันจะมีชีวิตอยู่ไปทำไมกัน ฉันจะกระโดดจากยอดเขาคิชฌกูฏ นี้แหละ"

    ในกาลนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงจำพรรษาอยู่ที่กรุงราชคฤห์ทรงมีญาณสามารถเห็นความเป็นไปของพระวักกลี ว่าเขาจะกระโดดจากหน้าผา 

    "หากภิกษุรูปนี้ไม่ได้รับการปลอบโยนจากเรา เขาจะฆ่าตัวตาย"

    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงไปที่เขาลูกนั้นแล้วตรัสเรียกพระวักกลิ ท่านดีใจรีบวิ่งลงจากเขาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ท่านรู้ธรรมนั้นทั่วถึงแล้ว จึงได้บรรลุอรหัต ครั้งนั้นพระพุทธเจ้า ทรงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุติ หรือ ผู้พ้นจากกิเลสได้ด้วยศรัทธา

    อดีตชาติของพระวักกลี (จากวิกิพีเดีย) 
    ในวักกลิเถราปทาน พระวักกลิได้เล่าเรื่องบุพกรรมของตนเองว่า ในสมัยพระปทุมุตรพุทธเจ้าเมื่อ 100,000 กัปที่แล้ว พระวักกลิได้เกิดเป็นพราหมณ์ในเมืองหงสวดี ได้ยินพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสยกย่องพระสาวกชื่อวักกลิว่าเป็นผู้มุ่งมั่นด้วยศรัทธา มีปัญญาดี มีความอาลัยในการดูพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าผู้ใด ท่านได้ฟังแล้วเกิดความยินดี จึงจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกตลอด 7 วันและถวายจีวรผืนใหม่ จากนั้นได้กราบทูลขอพรให้ตนเองได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสัทธิมุต พระปทุมุตรพุทธเจ้าจึงพยากรณ์ว่าในอีก 100,000 กัปข้างหน้า ท่านจะเกิดในสกุลวักกลิ ได้เป็นสาวกของพระโคตมพุทธเจ้า และจะทรงยกย่องท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สัทธาธิมุต หลังจากภพนั้นแล้วท่านได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

  10. องคุลีมาลไล่ตามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

    เมื่อสมัยพุทธกาล
    พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้าเมืองสาวัตถี มีปุโรหิตในราชสำนัก ชื่อ  "คัคคะ  ภรรยาของเขามีนามว่า นางมันตานี และมีบุตรชาย นามว่า อหิงสกะ
    อหิงสกะบุตรชายของปุโรหิตคัคคะ และนางมันตานี

    ในคืนที่อหิงสกะคลอดนั้น อยู่ๆ ก็เกิดปฎิหาริย์ อาวุธ มีด ดาบ ทั้งหมดในเมืองก็เกิดส่องประกายแวววาวไปทั่ว  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรู้สึกกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก 
    พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเห็นอาวุธในเมืองเกิดประกายวาบขึ้นในคืนที่อหิงสกะคลอดออกมา

    รุ่งเช้า พระองค์ ก็ทรงเรียกให้ปุโรหิต คัดตะ เข้าเฝ้าเพื่อถวายคำทำนายเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ท่านปุโรหิตได้ถวายคำทำนายว่า 
    พระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ปุโรหิตทำนายเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น

    "เมื่อคืน ภรรยาของข้าพเจ้าได้ให้กำเนิดลูกชาย พะยะคะ" 

    “แล้วทำไมอาวุธถึงส่องแสงประกายเช่นนั้น” พระองค์ตรัสถาม

    “ฝ่าบาท ลูกชายของฉันจะเป็นโจร”

    “เขาจะปล้นคนเดียวหรือจะจัดเป็นกองโจรละ?” 

    “เขาจะเป็นโจรที่ออกปล้นตามลำพัง ฝ่าบาท”  ปุโรหิตคัคคะตอบ

    “งั้นเราก็ควรฆ่าเขาตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลยไหม” พระองค์ตรัส

    "ไม่นะ พะยะค่ะ" ปุโรหิตอุทานออกมา "เมื่อเขาโตขึ้น เขาออกปล้นคนเดียว เราจะสามารถจับเขาได้อย่างง่ายดาย พะยะค่ะ"

    "งั้นเราจะไม่ฆ่าเขา" พระองค์ตรัสตอบ

    เมื่ออหิงสกะโตขึ้นเริ่มเป็นหนุ่มน้อย พ่อก็ส่งเขาไปศึกษาศิลปะวิชาที่เมืองตักกสิลา อหิงสกะนั้นเป็นเด็กที่แข็งแรงและฉลาดที่สุด เป็นเด็กที่เชื่อฟังอาจารย์มากกว่าเด็กอื่น ๆ ในสำนัก เด็กคนอื่น ๆ จึงเกิดอาการอิจฉาริษยา และใส่ร้ายป้ายสีเพื่อให้อาจารย์เกลียดชังอหิงสกะ  โดยการใส่ร้ายว่าอหิงสกะนั้นต้องการที่ลอบฆ่าอาจารย์เสีย เมื่อเเรกอาจารย์ก็ไม่เชื่อคำกล่าวนั้น แต่เมื่อนานไป อาจารย์ถูกยุยงจนในที่สุดอาจารย์ก็เชื่อเช่นนั้น
    อหิงสกะเข้าเรียนในสำนักตักกศิลา
    โดยการใส่ร้ายว่าอหิงสกะนั้นต้องการที่ลอบฆ่าอาจารย์เสีย เมื่อเเรกอาจารย์ก็ไม่เชื่อคำกล่าวนั้น แต่เมื่อนานไป อาจารย์ถูกยุยงจนในที่สุดอาจารย์ก็เชื่อเช่นนั้น อาจารย์จึงคิดว่างแผนที่กำจัดหรือฆ่าอหิงสกะเสีย แแต่ก็กลัวว่าจะถูกครหาว่าเป็นอาจารย์ฆ่าศิษย์ จึงได้คิดวางแผนการกำจัดอหิงสกะโดยการยืมมือคนอื่นให้ฆ่าหนุ่มน้อยแทน ดังนั้นในงานพิธีบูชาครูที่จัดขึ้นเมื่ออหิงสกะศึกษาจบแล้วนั้น
    เพื่อน ๆ อิจฉาริษยา ใส่ร้ายป้ายสีอหิงสกะจนอาจารย์เชื่อว่าเป็นความจริง

    อาจารย์จึงกล่าวว่า
    อาจารย์ออกอุบายให้อหิงสกะออกฆ่าคนเพื่อให้อหิงสกะถูกจับฆ่าโดยคนอื่น

    "เมื่อเจ้าเรียนจบแล้ว ตอนนี้เจ้าจะต้องตอบแทนข้า ที่ข้าได้สั่งสอนเจ้ามาตลอด"

    "ท่านอาจารย์ ข้าต้องจ่ายท่านเท่าไหร่เหรอขอรับ" อหิงสกะถามด้วยความใสซื่อ

    "ข้าไม่ต้องการค่าตอบแทนเป็นเงินหรอก แต่ข้าอยากได้นิ้วหัวแม่มือขวาของมนุษย์ ๑๐๐๐ นิ้ว  และอย่าลืมว่าเจ้าจะต้องไม่เอานิ้วมือด้านขวามาสองนิ้วจากคนคนเดียวกัน"

    แม้ในใจนั้น อหิงสกะคิดว่ามันเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกินที่จะทำได้ตามที่อาจารย์ร้องขอ แต่เขาก็ได้ให้สัญญากับอาจารย์ไว้ว่าจะยอมตอบแทนอาจารย์ด้วยวิธีที่อาจารย์ต้องการ คิดได้ดังนั้นก็เดินถือดาบเข้าไปยังแคว้นโกศล 
    อหิงสะกะดักซุ่มฆ่าคนที่เดินทางผ่านเส้นทางในแคว้นโกศล
    อหิงสะดักฆ่าผู้คนที่เดินทางผ่านมาทางแคว้นโกศล
    อหิงสกะ ดักซุ่มอยู่กลางป่าข้างทาง คอยผู้คนที่เดินผ่านมา เมื่อมีใครเดินผ่านมา เขาก็รีบเข้าไปฆ่าและตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเหยื่อเอามาร้อยเป็นพวงมาลัยเเขวนคอไว้ เเล้วเอาร่างของเหยื่อแขวนไว้บนต้นไม้ เพราะพวกนิ้วมือที่ร้อยแขวนคอไว้เหมือนพวงมาลัย จึงทำให้ผู้ที่พบเห็นเขา ขนามนามให้เขาว่า องคุลีมาล ด้วยองคุลีนั้นหมายถึง นิ้วมือ มาล หรือ มาลาก็คือมาลัย นั่นเอง 
    อหิงสกะฆ่าคนและตัดนิ้วร้อยเป็นเป็นพวงคล้องคอไว้ จนได้ชื่อว่า องคุลีมาล

    องคุลีมาลออกไล่ฆ๋าคนไปทั่วทุกตำบลหนที่ ชาวบ้านชาวเมืองต่างพากันหวาดกลัว จึงได้นำข่าวนี้ไปแจ้งทางการ ข่าวจึงได้ยินไปถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงตัดสินใจที่ไล่ล่าและจับโจรร้ายคนนี้ให้ได้ 
    เหล่าเสนาทูลแจ้งข่าวเรื่องโจรร้ายคุลีมาลแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล
    เมื่อนางมันตานีผู้เป็นแม่ของเขาทราบเรื่องก็รีบกลับไปแจ้งข่าวนี้ให้กับปุโรหิตผู้เป็นพ่อทราบ เพื่อจะได้หาวิธีช่วยเหลือลูกชายของพวกเขา
    นางมันตานีปรึกษาเรื่องที่จะช่วยเหลืออหิงสกะให้พ้นจากการจับกุมและต้องอาญาแผ่นดิน

    "เจ้ารู้หรือไม่ว่าตอนนี้อหิงสกะได้กลายเป็นคนที่โหดร้ายเหลือเกิน" ท่านคัดคะกล่าว

    "ถ้าฉันไปหาเขาตอนนี้ เขาอาจจะฆ่าฉันเสียก็ได่" ท่านกล่าวต่อ

    แต่ด้วยความรักของผู้เป็นแม่ นางรักลูกชายของนางยิ่งกว่าชีวิต นางจึงคิดในใจว่า
    นางมันตานีคิดช่วยเหลือบุตรชาย
    "ฉันต้องไปที่ป่านั่น ไปหาอหิงสกะ และบอกข่าวให้เขารู้ เขาจะได้หนีไป หนีไปให้พ้นจากการจับกุมและลงโทษอันใหญ่หลวงนี้" 
    นางมันตานีเดินทางออกไปหาบุตรชายที่อยู่ในป่า
    ในขณะเดียวกันนั้นองคุลีมาลก็ฆ่าคนไปแล้วถึง ๙๙๙ คน เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น เขาก็จะได้นิ้วมือครบ หนึ่งพันนิ้วตามที่อาจารย์ต้องการ เขาอาศัยอยู่ในป่านั้นอยู่เป็นเดือน ๆ โดยไม่ได้กินอาหารที่เรียกว่าอร่อยและไม่ได้นอนหลับอย่างสบายมานานแล้ว  ดังนั้นเขาจึงใกล้หมดความอดทนที่จะใช้ชีวิตในแบบนั้นอีกต่อไป องคุลีมาลจึงคิดในใจว่า

    "ถึงแม้ว่าวันนี้ คนที่ผ่านมาจะเป็นแม่ของฉันเอง ฉันก็ฆ่านางเสียแล้วเอานิ้วมือนิ้วที่หนึ่งพันนี้ไปถวายท่านอาจารย์ มันจะได้ครบ ๆ เสียที"

    ในวันเดียวกันนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีญาณสามารถเห็นถึงความคิดขององคุลีมาลผู้ที่จะฆ่าแม่เพื่อตัดนิ้วมือของนาง 
    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีญาณรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีญาณรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
    "เราต้องช่วยเหลือนาง มิฉะนั้นองคุลีมาลจะต้องฆ่าแม่ของตนเอง มันเป็นบาปมหันต์  องคุลิมาลคนนี้ มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้" 

    พระองค์จึงทรงเสด็จออกไปในป่าที่องคุลีมาลดักซุ่มอยู่

    ชาวบ้านที่ได้พบเห็นพระพุทธองค์เสด็จผ่านเข้าไปในป่าแห่งนั้นต่างก็ร้องห้ามพระองค์ไว้ 

    "พระองค์ อย่าเสด็จเข้าไปในป่านั้นเลย ที่นั่นมีโจรที่โหดร้ายมาก ท่านรีบกลับไปเสียเถิด" 
    ชาวบ้านอ้อนวอนขอไม่ให้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปในป่าที่องคุลีมาลอาศัยอยู่

    พระพุทธองค์ทรงเสด็จเข้าไปในป่าที่องคุลีมาลอาศัยอยู่

    พวกเขาต่างร้องเรียกและห้ามพระองค์ถึงสามครั้งสามครา แต่พระองค์ก็ได้แต่กล่าวขอบใจพวกเขาและยังคงเสด็จต่อไป 

    ในที่สุดนางมันตานีก็เดินทางมาถึงกลางป่าแล้วเช่นกัน องคุลีมาลเห็นนางเดินเข้ามาแล้วก็คิดในใจว่า
    องคุลีมาลเห็นแม่เดินเข้ามา นึกสงสารแต่คิดว่ายังไงก็ต้องฆ่า
    "แม่ของข้า นางช่างน่าสงสารเหลือเกิน นางมาคนเดียว แต่วันนี้ข้าจำใจต้องฆ่านาง ข้าตั้งใจไว้แล้วว่าใครเดินผ่านมาเป็นคนที่หนึ่งพัน ข้าก็จะฆ่าเสีย"

    ทันใดนั้น ก็ปรากฏองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นระหว่างทางกลางคนทั้งสอง องคุลีมาลจึงคิดอีกว่า

    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จยืนกั้นระหว่างกลางองคุลีมาลและแม่
    "ช่างดีเสียเหลือเกินที่นักบวชคนนี้เดินเข้ามาก่อนที่แม่ของข้าจะมาถึง ข้าจะได้ไม่ต้องฆ่านาง ข้าจะฆ่านักบวชแปลกหน้านี้แทน" 

    องคุลีมาลยกดาบขึ้นแล้ววิ่งตามหลังองสัมมาสัมพุทธเจ้าไป มุ่งหวังจะฆ่าพระองค์เสีย พระองค์ทรงย่างก้าวเพียงช้า ๆ เท่านั้น แต่พระองค์แสดงปาฏิหาริย์ให้องคุลีมาลนั้นเห็นว่าพระองค์กำลังวิ่งหนี องคุลีมาลจึงวิ่งตามอย่างรวดเร็วและไม่ลดละ แต่ก็ไม่สามารถจะวิ่งตามทันพระองค์สักที เขาเริ่มเหนื่อยหอบจนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้อีก จึงตะโกนไปข้างหน้าว่า 
    องคุลีมาลวิ่งไล่ตามองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อหวังฆ่า

    "หยุดนะ แล้วยืนอยู่ตรงนั้น"

    "เราหยุดแล้ว แต่เจ้านั่นแหละยังไม่หยุด" พระองค์ทรงตรัสตอบ

    องคุลีมาลยังไม่เข้าใจที่พระองค์ตรัส จึงเอ๋ยขึ้นมาด้วยความฉงนว่า

    "เจ้าหยุดเมื่อไหร่กัน ข้าเห็นเจ้าวิ่งไม่หยุด วิ่งเร็วกว่าข้าเสียอีก"
    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหยุดและกล่าวกับองคุลีมาล
    "เราหยุดแล้วองคุลีมาล เราหยุดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่เจ้านั้นยังไม่หยุดฆ่าคน เจ้ายังไม่มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ใดๆ"

    ด้วยพระสรุเสียงอันอ่อนโยนและทรงพลังแห่งความเมตตา องคุลีมาลถึงกับใจอ่อน ยอมทิ้งดาบและอาวุธลงแล้วเข้าก้มกราบแทบพระบาท 
    องคุลีมาลยอมแพ้เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรมและสำนึกผิด
    พระพุทธองค์ทรงแสดงพระเทศนาจนองคุลีมาลซาบซึ้งในรสพระธรรม และกล่าวยอมแพ้แก่พระองค์ จากนั้นพระองค์จึงนำทางองคุลีมาลไปยังวัดพระเชตวัน และทรงอุปสมบทให้แก่องคุลีมาลเป็นภิกษุสงฆ์

    ในขณะเดียวกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลพร้อมกองทัพปราบโจรองคุลีมาลก็กำลังรอรับเสด็จองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ขอรับพรจากพระองค์ก่อนจะออกจากวังไปปราบโจรร้าย แต่รอแล้วรอเล่า พระพุทธองค์ก็ไม่เสด็จมาสักที พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงเสด็จไปยังวัดพระเชตวันพร้อมกับเหล่าทหารม้าจำนวนห้าร้อยนาย เมื่อเสด็จไปถึง พระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า
    พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเผ้าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อขอพรไปปราบโจรร้ายองคุลีมาล
    "“ท่านมีปัญหาอะไรหรือ พระราชาผู้ยิ่งใหญ่”

    "ข้าพเจ้าได้ยินว่าในเมืองมีโจรที่โหดร้ายคนหนึ่งนามว่า องคุลีมาล พวกเรากำลังจะออกไปไล่ล่าและจับเขามาลงโทษ" พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบ

    "ข้าแต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ หากว่าท่านได้พบองคุลีมาลโจรร้ายที่โกนผม และนุ่งห่มจีวรแล้ว ท่านจะทำกับเขาอย่างไร?"

    "หากเขายอมกลับใจยอมบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ดังนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะยอมก้มกราบเขา พะยะค่ะ" 

    เมื่อได้ยินเช่นนั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเรียก องคุลีมาลให้ออกมา เหล่าทหารต่างเตรียมพร้อมทั้งกำลังและอาวุธเพื่อที่จะจับตวโจรร้าย 

    เมื่อองคุลีมาลปรากฏตัว พระพุทธองค์ทรงชี้ไปที่เขาแล้วตรัสว่า

    "นั่นไง องคุลีมาล" 
    องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นภิกษุองคุลีมาล
    พระราชาเห็น องคุลิมาล แล้วทรงหวาดหวั่น พระพุทธองค์ ทรงทราบจึงตรัสว่า อย่าทรงกลัวเลย บัดนี้ องคุลิมาล มิได้เป็นภัยกับผู้ใดแล้ว บวชเป็นบรรพชิต ฉันภัตตาหารหนเดียว เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นการลักทรัพย์ และเว้นการพูดเท็จ

    เมื่อทรงเข้าพระทัยดี พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสรรเสริญพระพุทธคุณ สามารถปราบมหาโจรได้โดยไม่ต้องโทษอาญาและศัตราวุธ และเสด็จกลับไป
    พระเจ้าปเสนทิโกศลก้มกราบองคุลีมาลเพราะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และการสำนึกผิดขององคุลีมาล
    องคุลีมาลนั้น เมื่อออกบิณฑบาตรก็แสนยากลำบาก ชาวบ้านต่างแตกตื่นตกใจกลัว เมื่อได้ยินว่าพระสงฆ์รูปนี้คือองคุลีมาลที่เคยเป็นโจรฆ่าคนมาก่อน ต่างปิดบ้าน ปิดหน้าต่างหนี เมื่อได้ยินว่า องคุลีมาลผ่านมาทางนี้
    ชาวบ้านหวาดกลัวพระภิกษุองคุลีมาลเมื่อออกบิณฑบาตร
    ในระหว่างทางที่องคุลีมาลออกเดินบิณฑบาตรนั้น ก็พบกับหญิงใกล้คลอดอยู่บนเกวียนกลางป่า ดูเหมือนว่านางจะมีปัญหาเรื่องการคลอดเสียแล้ว นางคลอดลูกไม่ออก องคุลีมาลเมื่อเห็นก็ไม่รู้จะทำเช่นไร จึงรีบวิ่งกลับไปที่วัดพระเชตวันและทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
    ภิกษุองคุลีมาลพบหญิงกำลังปวดท้องคลอดแต่คลอดไม่ออก
    พระพุทธองค์จึงสอนพระคาถาให้แก่องคุลีมาล เพื่อให้นางคลอดลูกได้ง่ายและปลอดภัย องคุลีมาลเมื่อเรียนพระคาถาแล้วก็รีบวิ่งกลับไปที่เกวียนกลางป่า ท่องพระคาถาแก่นาง จนนางคลอดลูกออกมาได้อย่างปลอดภัย
    ภิกษุองคุลีมาลท่องพระคาถาจนหญิงคนนั้นคลอดลูกออกมาอย่างปลอดภัย
    หลังจากภิกษุองคุลีมาล บวชอยู่ในสำนักของพระพุทธองค์พอสมควรแก่เวลา ได้เรียนรู้และเข้าใจในศีล และข้อบัญญัติหรือพระธรรมวินัยจนเป็นที่เข้าใจถ่องแท้แล้ว ท่านก็ทรงทูลขอพระบรมพุทธานุญาติ ออกจาริกไปในป่าเขาลำเนาไพรแต่เพียงผู้เดียว ถือธุดงควัตร ๑๓ ข้ออย่างเคร่งครัด บำเพ็ญเพียรด้วยศีล สมาธิ และปัญญา  

    ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นก็ปรากฏว่า ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวดที่บุคคลแม้ขว้างไปในทิศทางอื่น ก็ปรากฏให้สิ่งเหล่านั้นมาตกต้องกายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดชั่วกาลนาน นั้น เพียงในปัจจุบันนี้เท่านั้น.(วิบากกรรม)
    ชาวบ้านเมืองสาวัตถีโกรธแค้น ทำร้ายภิกษุองคุลีมาล
    ภิกษุองคุลีมาลกลับมาหาพระพุทธองค์
    พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับภิกษุองคุลีมาลให้อดทนอดกลั้นไว้จะได้สำเร็จเป็นอรหันต์
    จนในที่สุดท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นับว่าชาตินั้นเป็นชาติสุดท้าย ภพสุดท้ายของท่าน 
    พระอรหันต์องคุลีมาล ท่านเป็น ๑ ใน ๘๐ องค์พระอรหันต์ที่สำคัญของ พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “อสีติอริยะสาวก” เป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดองค์หนึ่ง ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเนิ่นนานมาจนทุกวันนี้ พระนามของท่านจะยังคงจารึกไว้ในใจของพุทธศาสนิกชนตลอดกาลนาน ทั้งในเรื่องราวประวัติความเป็นมาของท่าน ในแบบอย่างของผู้ที่หลงผิดแล้วกลับตัวกลับใจมาเป็นคนดีมีคุณประโยชน์ต่อสังคม


    ขอบคุณภาพประกอบจาก G.K.Ananda Kumarasiri, Malaysia

กำลังโหลด